วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การเล่นบทบาทสมมติ...พัฒนาสมองลูกได้ by แม่สายป่าน

บทบาทสมมติ...พัฒนาสมองลูกได้
boy-toys-doctor.jpg



หลังจากที่เด็กๆ ได้สัมผัสและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ในช่วง 2 ปีแรกของชีวิตมาแล้ว ประสบการณ์ที่ดีจะยังฝังอยู่ในความรู้สึกและการรับรู้ของพวกเขา กระทั่งเมื่อก้าวสู่ปีที่ 3พวกเขาจะเปิดเผยสิ่งเหล่านั้นออกมาให้พ่อแม่ได้รับรู้ ผ่าน การเล่นบทบาทสมมติ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสมมติว่าตัวเองกำลังพูดคุยโทรศัพท์อยู่กับเพื่อนในจินตนาการ การสมมติว่าตุ๊กตาคือ น้องสาว ที่เธอต้องดูแล หรือแม้กระทั่งบอกว่าตนเองเป็นหมอ เป็นแม่ครัว ฯลฯ 
 การเล่นบทบาทสมมติจึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของสมองของเด็กในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องของการจดจำ การเลียนแบบพฤติกรรมของคนใกล้ชิด  (การทำงานของเซลล์กระจกเงา หรือ Mirror Neuron)  
การเล่นบทบาทสมมติเป็นพื้นฐานของความฉลาดแบบสร้างสรรค์  เด็กจะได้ประโยชน์จากการเล่นประเภทนี้อย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นการจับตะหลิวผัดข้าวผัด ได้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมือ ฝึกการใช้สายตา การทอนเงิน เป็นการฝึกคิดเลข  การต้อนรับเพื่อนซึ่งเป็นลูกค้าถือเป็นการฝึกการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ  ได้เรียนรู้บทบาทที่ซับซ้อนมากขึ้น ในขณะเดียวการเล่นบทบาทสมมตินี้เป็นการช่วยให้เด็กได้ผ่อนคลายระบายความรู้สึกบางอย่างออกมาด้วยเช่นกัน
บทบาทของคุณ่พอคุณแม่ต่อการเล่นบทบาทสมมติของลูกคือ ปล่อยให้ลูกเป็นผู้นำการเล่นอย่างอิสระ ร่วมเป็นเพื่อนเล่นกับลูกด้วยก็ยิ่งดี  ร่วมพูดคุยกับลูก แล้วคุณแม่จะค้นพบหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่เพียงประสบการณ์ ที่เขาพบเจอ แต่ยังรวมถึงความรู้สึกนึกคิดของลูกที่แสดงออกมาให้ได้รับรู้ผ่านการเล่นนี้ด้วย...แล้วคุณพ่อคุณแม่จะแปลกใจกับความคิดของลูกค่ะ
เล่นสมมติ...เพื่อพัฒนาสมอง

ถ้าคุณสังเกตการเล่นของเด็กวัย 2-4 ขวบ ก็จะเห็นรูปแบบการเล่นอย่างหนึ่งที่เด็กวัยนี้ช๊อบชอบ นั่นคือการเล่นบทบาทสมมติค่ะ ซึ่งเป็นการเล่นที่ไม่เพียงสร้างความเพลิดเพลินให้กับเด็กๆ เท่านั้น ยังช่วยพัฒนาด้านสติปัญญา และการมีสมาธิด้วยค่ะ
เรามาดูกันนะคะว่าประโยชน์ของการเล่นบทบาทสมมตินี้ให้อะไรบ้าง

1. ทักษะทางสังคม เช่น ได้รู้จักแบ่งกันเล่น ผลัดเปลี่ยนกันเล่นบทบาทสมมตินั้นๆ ได้ฝึกการพูดคุยสนทนากันในเรื่องต่างๆ ที่เด็กเล่นกัน เช่น ถ้าเด็กกำลังเล่นเป็นพ่อแม่ ก็จะได้เรียนรู้บทบาทของพ่อแม่ หน้าที่ของพ่อแม่ หรือถ้าเล่นเป็นหมอพยาบาล เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องการตรวจ บทสนทนาระหว่างหมอกับคนไข้ หน้าที่ของหมอ พยาบาล และคนไข้ เป็นต้น
การ เล่นบทบาทสมมตินี้จะช่วยส่งเสริมด้านจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กค่ะ ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นนาน เรียนรู้จักบทบาทที่ซับซ้อนมากขึ้น การแก้ปัญหาและการทำอะไรด้วยกัน หรือการทำงานเป็นทีม

กิจกรรมการเล่นบทบาทสมมติ เป็นกิจกรรมกลุ่มที่ช่วยพัฒนาทักษะทางด้านสังคมของเด็กได้อย่างมาก เด็กได้เรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน รู้จักปรับตัวเข้าหากัน บางครั้งอาจจะแบ่งบทฝึกการเป็นผู้นำผู้ตามให้กับเด็ก รวมถึงสอดแทรกให้เด็กรู้จักยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างและการเข้าใจบทบาทของตนเองและผู้อื่นโดยที่ไม่ไปก้าวก่ายในบทบาทของกันและกัน นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดความรักและสามัคคีด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างที่เด็กๆ ได้เล่นบทบาทสมมติ ก็เท่ากับว่าเด็กๆ จะต้องเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทของตัวละคร เช่น ถ้าเด็กเล่นเป็นทหาร ก็จะทำท่าเดินเหมือนทหาร ก็เสมือนได้เคลื่อนไหวร่างกาย เป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย ที่สำคัญ การเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กเล็กจะช่วยให้เด็กได้ใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเต็มที่ เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้ทำงานสัมพันธ์กันได้ด้วย

 เห็นไหมคะว่ากิจกรรมบทบาทสมมติ เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อเด็กๆ อย่างมาก นอกจากความสนุกสนาน ยังเป็นการช่วยพัฒนาศักยภาพสมองของเด็กด้วย ดังนั้น พ่อแม่ก็อย่าปล่อยให้เวลาลอยนวลนะคะ ลองชักชวนลูกๆ มาเล่นบทบาทสมมติกัน รับประกันความสุขถ้วนหน้า

 ว่าแต่ลองสังเกตดูว่าบทบาทสมมติของลูกคุณส่วนใหญ่เลือกเป็นอะไรกันบ้าง เพราะเท่ากับเป็นการสะท้อนความในใจของลูกในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย ถ้าเขามีภาพความประทับใจในเรื่องใด เขาจะเลือกจินตนาการในเรื่องประทับใจ หรือเรื่องที่ติดตรึงใจ รวมไปถึงอิทธิพลจากพ่อแม่ที่ปลูกฝังในเรื่องอะไรบ้าง
 2. ได้แสดงออกซึ่งอารมณ์ต่างๆ ผ่านการเล่นบทบาทสมมตินั้นๆ เช่น ความผิดหวัง กลัว เสียใจ น้อยใจ โกรธ อิจฉา ผ่านการเล่นบทบาทต่างๆ กับเพื่อนๆ ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้วิธีจัดการ หรือคลี่คลายอารมณ์นั้นๆ ไปด้วย เป็นการฝึกให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องอีคิว และเรื่องความรู้สึกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในช่วงปฐมวัย เป็นวัยที่ชอบแสดงออกทางความรู้สึก เช่น เวลาดีใจหรือมีความสุขสนุกสนานก็จะหัวเราะกระโดดโลดเต้น แต่หากเวลาเสียใจหรือโดนขัดใจก็จะร้องไห้เสียงดัง กิจกรรมการเล่นบทบาทสมมติเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กได้แสดงออกทางด้านอารมณ์ของตนเองอย่างเต็มที่ เป็นการสอนให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องอารมณ์ของคนเรามีหลากหลาย ทั้งดีใจ มีความสุข ร้องไห้ เสียใจ ทุกข์ใจ เศร้าใจ ฯลฯ และเมื่อเกิดความรู้สึกเหล่านั้น จะมีพฤติกรรมอะไรตามมา เป็นการสอนให้ลูกได้เรียนรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองด้วย

นอกจากนี้ กิจกรรมการเล่นบทบาทสมมติยังช่วยให้เด็กเป็นคนละเอียดอ่อน มีความเข้าใจในความรู้สึกของผู้อื่นจากการที่เด็กๆได้แสดงบทบาทสมมตินั้นด้วย


3. ความคิดสร้างสรรค์ เพราะในโลกของบทบาทสมมติ เด็กสามารถเป็นใครก็ได้ตามที่เขาต้องการ รวมทั้งสามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้ เช่น เล่นเป็นคุณหมอ สามารถตรวจคนไข้ และให้ยาคนไข้ได้ เป็นต้นพบว่าเด็กที่ชอบเล่นบทบาทสมมตินี้ จะสามารถทำคะแนนทดสอบด้านความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการได้ดีค่ะ

4. มีระเบียบวินัย เพราะในการเล่นนั้น เด็กได้เรียนรู้เรื่องกฎเกณฑ์และฝึกวินัยในตัวด้วย เช่น ลูกกำลังเล่นเป็นแม่ที่ต้องพาตุ๊กตา (ลูก) เข้านอน ลูกกำลังเรียนรู้เรื่องเวลาที่ได้รับการฝึกจากแม่ไปในตัวค่ะ เหมือนเป็นการทวนวินัยหรือกฎเกณฑ์ที่ได้รับการสอนการฝึกในชีวิตประจำวันของ ตนเองไงคะ
อีกอย่างหนึ่งการ ใช้จินตนาการการเล่นเป็นตัวฝึกลูกในเรื่องระเบียบหรือวินัยต่างๆ ถือเป็นวิธีสอนเชิงบวกที่ชวนให้ลูกวัยนี้ปฏิบัติตามได้อย่างดีค่ะ เช่น ถึงเวลาอาบน้ำแล้ว แต่ลูกยังห่วงเล่นอยู่ คุณอาจนำน้องหมีของลูกมาพูดกับลูกว่า...ถึงเวลาอาบน้ำของน้องหมีแล้ว น้องหมีจ๋าชวนพี่พิมพ์ไปอาบน้ำด้วยดีกว่านะ...เพียงเท่านี้รับรองค่ะว่าเจ้า ตัวน้อยเป็นเลิกเล่นทีเดียว

5. เรียนรู้และรับการเปลี่ยนแปลง เพราะประสบการณ์มากมายที่ลูกได้เรียนรู้นั้นมีเพิ่มขึ้นทุกวัน มีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาอยู่ตลอดตามการเติบโตค่ะ เช่น เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง การขับถ่าย การได้รับการเลี้ยงดู การที่แม่ต้องกลับไปทำงาน สังคมในเนิร์สเซอรี่ เป็นต้น แต่เรื่องเหล่านี้ก็อาจทำให้ลูกเกิดความเครียดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งการเล่นสมมติจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ลูกได้ผ่อนคลายกับประสบการณ์ ใหม่ๆ ที่เข้ามาค่ะ
 6.   ส่งเสริมทางด้านภาษา การเล่นบทบาทสมมติเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางครั้งลูกอาจจะพูดคนเดียว แต่ก็เป็นการพูดกับเพื่อนในจินตนาการ หรืออาจจะมีตัวละครที่เล่นด้วยกัน ก็จะทำให้มีการสื่อสารกันทางคำพูดและท่าทาง ยิ่งเป็นเด็กวัยหัดพูด เด็กที่เล่นบทบาทสมมติจะเกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะเท่ากับช่วยพัฒนาการเรียนรู้ด้านภาษาให้กับเด็ก ซึ่งพ่อแม่สามารถสอดแทรกคำศัพท์ให้ลูกได้ด้วย ทำให้ลูกมีคำคลังได้เพิ่มมากขึ้น ยิ่งถ้ามีท่าทางประกอบจะยิ่งทำให้เด็กเรียนรู้ทักษะทางด้านภาษาได้ดียิ่งขึ้น

7. ส่งเสริมทางด้านความจำ เมื่อเด็กๆ ได้เล่นบทบาทสมมติต่างๆ เขาก็จำเป็นต้องจดจำบุคลิกท่าทาง หรือบทบาทที่ใกล้เคียงของตัวละครนั้นๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการสร้างจากจินตนาการ หรือบทบาทสมมติตัวละคร ล้วนแล้วต้องกระตุ้นเรื่องความจำด้วย อาจเป็นการจำจากประสบการณ์ในชีวิต หรือจำจากการเลียนแบบพฤติกรรมทางทีวี หรือสื่ออื่นๆ ซึ่งพ่อแม่ก็สามารถช่วยต่อยอดในการช่วยกระตุ้นความจำได้ด้วย ยกตัวอย่าง ลูกเล่นบทบาทสมมติเป็นหมี พ่อแม่ก็อาจช่วยกระตุ้นความจำว่าหมีมีลักษณะอย่างไร อาจชวนลูกคุยถึงสวนสัตว์ที่เคยไป แล้วพบเห็นว่าท่าทางของหมีเป็นอย่างไร แล้วชวนลูกคุยต่อไปถึงประเภทของหมีด้วยก็ได้

เห็นประโยชน์ของการเล่นสมมติมากมายเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมลูกให้สนุกได้โดยวิธีต่อไปนี้ค่ะ

1. เล่นเป็นเจ้าชายไปกับลูกเลย ถ้าลูกบอกว่าตนเองกำลังเป็นเจ้าหญิงอยู่ อย่าขัดจังหวะ ไม่สนใจ แสดงอาการเบื่อหน่ายการเล่นของลูก หรือเข้าไปควบคุมจัดแจงบอกให้ลูกเล่นอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ควรให้ลูกเป็นผู้นำและคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ตามเล่นไปกับลูกค่ะ

2. อนุญาต หากลูกจะนำหมอนอิง หรือลากโต๊ะในห้องมาวางเป็นป้อมปราการ โดยยอมปล่อยให้ลูกเล่นได้ในระยะเวลาที่กำหนด

3. ยอมลดอายุตัวเองลง หากลูกต้องการให้คุณเล่นเป็นเพื่อนซึ่งอยู่ในวัยเดียวกันกับเขา

4. อย่าปฏิเสธที่จะพาลูกไปข้างนอกด้วย หากเจ้าตัวน้อยยืนยันที่จะผูกผ้าขนหนู เพราะตอนนี้แกกำลังเป็นซูเปอร์แมนอยู่

5. บ่อยครั้งใช่ไหมคะที่คุณจะเห็นลูกวัยนี้ทำท่าพูดคุยกับใครสักคน ทั้งๆ ที่ไม่มีใครอยู่ตรงนั้น นั่นคือเพื่อนในจินตนาการของลูกค่ะ และถ้าลูกอยากให้คุณรู้จักกับเพื่อนคนนี้ อย่าปฏิเสธนะคะ แต่ควรเล่นไปกับลูกเลย

นอก จากจะเล่นกับลูกแล้ว บางครั้งการสนับสนุนด้วยข้าวของบางอย่างที่พอเหมาะพอควร ก็ช่วยให้ลูกสนุก ได้เรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพสมองในทุกวันที่เติบโตด้วยค่ะ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น